จป.ระดับวิชาชีพกับบทบาทหน้าที่เป็นบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง ตามประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่องกำหนดคุณสมบัติ หลักสูตร ระยะเวลาการฝึกอบรมและหน้าที่ของบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง พ.ศ.2564 (มีผลบังคับใช้ วันที่ 28 มีนาคม 2565 นี้)
ช่วงปลายเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้อ่าน ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่องกำหนดคุณสมบัติ หลักสูตร ระยะเวลาการฝึกอบรมและหน้าที่ของบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง พ.ศ.2564 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันประกาศฯ คือวันที่ 28 มีนาคม 2565 ที่เพิ่งผ่านมานี้ โดยประกาศกรมการขนส่งทางบกฉบับนี้ ออกตามกฎกระทรวงความปลอดภัยในการขนส่ง พ.ศ. 2558 แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงความปลอดภัยในการขนส่ง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563
วัตถุประสงค์ที่ออกกฎกระทรวงและประกาศกรมการขนส่งทางบกดังกล่าวก็เพื่อยกระดับระบบการขนส่งทางถนนของประเทศไทยในภาพรวมให้ได้ตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากลและลดสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่ประเทศไทยติดอันดับ 1-10 ของโลกมาตลอดช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และที่สำคัญเพื่อลดความสูญเสียชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน โอกาสทางธุรกิจ มูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 5แสนล้านบาท/ปี โดยสรุปเป็น 3 ประเด็นดังนี้
1. เพื่อให้ผู้ประกอบการขนส่งได้รับการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการขนส่ง ส่งเสริมให้การขนส่งทางถนนของประเทศไทยมีมาตรฐาน เกิดความปลอดภัย และลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
2. เพื่อการสนับสนุน ส่งเสริม และกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการขนส่ง มีระบบการบริหารจัดการและการตรวจสอบความปลอดภัยด้านการขนส่งทางถนนอย่างเป็นรูปธรรม นำไปปฎิบัติได้จริง
3. เพื่อให้บุคลากรจัดการความปลอดภัยในการขนส่งทางถนน สามารถทำงานประสานงานกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้เกิดความปลอดภัยด้านการขนส่งทางถนนในกรอบที่กฎหมายกำหนดอย่างยั่งยืน
จากประกาศกรมการขนส่งทางบก ฉบับดังกล่าวได้กำหนดคุณสมบัติบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่งไว้ในข้อ 1 - ข้อ 3 ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้
1. ต้องเป็นคนสัญชาติไทย
2. อายุไม่ต่ำกว่า 22 ปีบริบูรณ์
3. ไม่เคยถูกยกเลิกการขึ้นทะเบียนเป็นบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง
4. ต้องผ่านการฝึกอบรมบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่งตามที่กำหนดในประกาศฯนี้
4.1 บุคคลทั่วไป อบรมครบตามหลักสูตร จำนวน 18 ชั่วโมง
4.2 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยคุ้มครองแรงงาน (ประกาศฯฉบับนี้เขียนว่า “ตามกฎหมายว่าด้วยคุ้มครองแรงงาน” ซึ่งเชื่อมโยงถึงกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัยฯ พ.ศ. 2549) เลือกหัวข้ออบรมไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง
4.3 ผู้มีประสบการณ์ทำงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านการขนส่งทางถนนไม่น้อยกว่า 5 ปี เลือกหัวข้ออบรมไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง
4.4 ผู้ที่ขอต่ออายุการขึ้นทะเบียนเป็นบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง เลือกหัวข้ออบรมไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง
5. ผู้อบรมต้องผ่านการทดสอบความรู้ตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด คะแนนรวม 70% ขึ้นไป
6. กรณีไม่ผ่านการทดสอบความรู้ ให้ทดสอบแก้ตัวได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ไม่ผ่านการทดสอบครั้งแรก ถ้าไม่ผ่านอีก ต้องเข้ารับการฝึกอบรมและทดสอบใหม่
สำหรับการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ในประกาศกรมการขนส่งทางบก มีรายละเอียดสรุปตามคุณสมบัติผู้อบรมให้สะดวกในการทำความเข้าใจ ดังนี้
เมื่อพิจารณาหัวข้อการอบรมหลักสูตรตามประกาศกรมการขนส่งทางบกดังกล่าวแล้วก็สามารถทราบกรอบหน้าที่ความรับผิดชอบของบุคลากรจัดการความปลอดภัยในการขนส่งทางถนน สำหรับสถานประกอบกิจการหรือผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง แบ่งเป็น 5 ด้าน คือ
1. การบริหารจัดการรถ(มุ่งเน้นความพร้อมและการบำรุงรักษาเชิงป้องกันของรถ) เช่น
• จัดทำแผนการบำรุงรักษารถตามกำหนดรอบระยะทางหรือระยะเวลาในการใช้รถ
• ตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถและอุปกรณ์ส่วนควบรถตามแผนที่กำหนด
• เก็บข้อมูลเกี่ยวกับรถอย่างเป็นระบบ เช่น ประวัติการบำรุงรักษาและซ่อมรถ
2. การบริหารจัดการพนักงานขับรถ(มุ่งเน้นการดูแลคนให้มีความพร้อมขับรถอย่างปลอดภัย) เช่น
• กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของพนักงานขับรถ
• กำหนดแผนปฏิบัติการของพนักงานขับรถตามกฎหมายและมั่นใจว่าพักผ่อนเพียงพอ
• ตรวจสอบสภาพและความพร้อมของพนักงานขับรถก่อนออกเดินทาง สุ่มตรวจระดับแอลกอฮอล์
• อบรมให้ความรู้และพัฒนาทักษะของพนักงานขับรถ การเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ เช่น ประวัติการอบรม ประวัติการทำงาน ประวัติการกระทำผิด ซึ่งรวมถึงประวัติการขับรถเกิดอุบัติเหตุ
3. การบริหารจัดการการเดินรถ เช่น
• กำหนดเส้นทางที่เหมาะสมในการขนส่งตามประเภทและชนิดของรถและความชำนาญเส้นทาง
• กำหนดแผนปฏิบัติการเดินรถและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถ เช่น การแจ้งเตือนจุดเสี่ยงหรือจุดอันตราย หรือการกำหนดจุดพักรถระหว่างทางที่เหมาะสม การใช้ความเร็วระหว่างเดินทาง
4. การจัดการการบรรทุกและการโดยสาร (ตามธุรกิจของสถานประกอบกิจการ) เช่น
• กำหนดรูปแบบและแนวทางในการบรรทุกคนโดยสารและสัมภาระ ตามธุรกิจของสถานประกอบกิจการโดยมีวิธีการปฏิบัติงานขนส่งที่เหมาะสม
• ตรวจสอบความปลอดภัยในการบรรทุกคนโดยสาร สัตว์ หรือสิ่งของ ด้านจำนวน ปริมาณ ขนาด รวมถึงการใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยต่างๆ
5. การบริหารจัดการ การวิเคราะห์และการประเมินผล เช่น
• กำหนดรูปแบบและแนวทางการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน ขั้นตอนการดำเนินการ ข้อมูลการติดต่อ สื่อสารกับหน่วยงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง และวิธีจัดการเหตุฉุกเฉิน ความพร้อมการรับแจ้งเหตุ
• การวิเคราะห์และประเมินผลการจัดการความปลอดภัยในการขนส่ง เพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุขึ้นอีก
สำหรับสถานประกอบกิจการที่ไม่ใช่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง แต่มีรถขนส่งสินค้า รถรับส่งพนักงานภายในองค์กร หรืออาจจะมีรถขนส่งสินค้าจากภายนอกมาส่งวัตถุดิบ มารับสินค้าภายในสถานประกอบกิจการ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานทุกระดับ ก็สามารถใช้เนื้อหาฝึกอบรมของประกาศกรมฯ ฉบับนี้มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับภารกิจขององค์กรได้สะดวกเช่นกัน อีกทั้งแนวทางในการบริหารจัดการ ในเนื้อหาหลักยังสอดคล้องกับระบบการจัดการความปลอดภัยทางถนน ISO 39001:2012 (Road Traffic Safety Management) เป็นส่วนใหญ่ หากองค์กรมีความประสงค์จะยกระดับให้ได้การับรองตามระบบ ISO 39001:2012 โดยเริ่มทบทวนบริบทองค์กร ประกาศนโยบาย แต่งคณะทำงานเพื่อทำระบบ จัดทำโครงสร้างระบบเอกสาร ให้ครบทั้งคู่มือระบบบริหารความปลอดภัยทางถนน ระเบียบการปฏิบัติงาน ขั้นตอนการปฏิบัติงาน แบบฟอร์ม เอกสารสนับสนุนต่างๆที่เกี่ยวข้อง พร้อมการนำไปปฏิบัติทั่วทั้งองค์กร การตรวจประเมินภายใน การทบทวนของฝ่ายบริหาร และการวิเคราะห์ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เมื่อขอการรับรองจาก Certification Body แล้วก็สามารถยกระดับความเชื่อมั่นให้ลูกค้าที่ใช้บริการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้นต่อไป